ที่ตั้ง ตึก ภูมิสิริฯ ชั้น4
เบอร์โทรศัพท์ 02-2564639 โทรสาร 02-2564639
จำนวนเตียง 8 เตียง
เจตจำนง (Purpose Statement)
ให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยภาวะกึ่งวิกฤต และผู้ป่วยทำหัตถการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด สู่ความเป็นเลิศด้วยบริการที่ได้มาตรฐาน ที่มีความปลอดภัย ผู้รับบริการมีความพึงพอใจ และสามารถดูแลตนเองได้ บุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี
กลุ่มโรคที่รับเข้ารักษาในหอผู้ป่วยไอ ซี ซี ยูที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดที่พ้นภาวะวิกฤตแต่จำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เช่น ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction) ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวโดยทีมสหสาขาวิชาชีพประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร โภชนากร และนักกายภาพบำบัด กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจตีบซึ่งเข้าโครงการทางด่วนสำหรับผู้ป่วยที่ทำหัตถการ (Cardiac Intervention) เช่น การสวนหัวใจและหลอดเลือด การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน นอกจากนี้ยังมีการปิดรูรั่วหัวใจด้วยสายสวน การเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยเทคนิคการใช้สายสวน การตรวจภาวะหลอดเลือดส่วนปลายขา การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดย การช๊อคไฟฟ้า การใส่เครื่องกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจชนิดชั่วคราว/ถาวร การใช้สายสวนและการจี้ไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

บุคลากร ประกอบด้วย
- ทีมบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีทักษะสูง
- ทีมพยาบาลวิชาชีพซึ่งผ่านการอบรมการดูแลผู้ป่วยวิกฤต การช่วยชีวิตขั้นสูง และการอบรมเพิ่มเติมความรู้การดูแลผู้ป่วยวิกฤตอย่างสม่ำเสมอ
หลังจากที่ท่านต้องเข้ามารับการรักษาตัวในหอผู้ป่วยไอ ซี ซี ยู ท่านและญาติของท่านจะได้รับการแนะนำการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่โรงพยาบาลดังนี้
- สถานที่หอผู้ป่วยไอ ซี ซี ยู เป็นไอซียูที่ทันสมัยและได้มาตรฐานสามารถรับผู้ป่วยได้ 8 เตียง ให้บริการรับผู้ป่วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดที่อยู่ในภาวะกึ่งวิกฤต(พ้นภาวะวิกฤตแต่จำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง) และผู้ป่วยหลังทำหัตถการระบบหัวใจและหลอดเลือด
- พยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยเป็นพยาบาลวิชาชีพได้รับการอบรม ฝึกปฏิบัติ เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยวิกฤตด้านการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานและขั้นสูง การใช้เครื่องมืออุปกรณ์แพทย์ต่างๆ ผลัดเปลี่ยนทุก 8 ชั่วโมง และแพทย์ประจำในไอ ซี ซี ยูเป็นแพทย์ประจำบ้านอายุรกรรม หมุนเวียนปฏิบัติงานตลอด 24 ช.ม. สามารถให้การรักษาผู้ป่วย เมื่อเกิดปัญหาหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับผู้ป่วยได้ทันทีภายใต้การควบคุมของแพทย์เฉพาะทาง และอาจารย์แพทย์หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์โรคหัวใจโดยประสานงานกับแพทย์เจ้าของไข้ หรือปรึกษาแพทย์ระบบอื่น ที่ผู้ป่วยมีปัญหาร่วม
- อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ใช้กับผู้ป่วยทันสมัยจำนวนเพียงพอพร้อมใช้ตลอดเวลา มีการตรวจสอบทุกเครื่องมือก่อนใช้ และมีการบำรุงรักษาเครื่องมือเป็นอย่างดี ทั้งจากบุคลากรของไอซีซียู มีการตรวจสอบจากองค์กรภายนอก รวมทั้งบริษัทผู้ผลิต อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้บุคลากรพยาบาลได้ผ่านการอบรมการใช้เครื่องมือจากบริษัทผู้ขาย และมีการทดสอบการใช้เครื่องมือเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย
- ภาวะกึ่งวิกฤต กิจกรรมต่างๆที่ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้พร้อมเหตุผล เช่น อาหาร ชนิด และเวลารับประทานอาหาร น้ำดื่ม น้ำบ้วนปาก การทำความสะอาดร่างกาย การขับถ่ายเป็นต้น กิจกรรมการปฏิบัติพยาบาลที่ผู้ป่วยจะได้รับ จะบอกให้ทราบก่อน เช่น การตรวจวัดสัญญาณชีพ การเจาะเลือด การเก็บสิ่งส่งตรวจต่างๆ
- การใช้ออดสัญญาณเรียกเจ้าหน้าที่ เมื่อต้องการขอความช่วยเหลือ หรือ มีอาการเปลี่ยนแปลง หรือมีอาการผิดปกติที่ต้องแจ้งแพทย์หรือพยาบาลรับทราบทันที เช่นอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย
- ทรัพย์สินของมีค่าและเงินที่ติดตัวมากับผู้ป่วยจะคืนให้ผู้ป่วยและญาติ ผู้ป่วยไม่ควรประดับของมีค่า หรือนำทรัพย์สินและเงินสดจำนวนมากมาเก็บรักษาไว้ในระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาลป้องกันการสูญหาย โรงพยาบาลจะไม่รับผิดชอบในกรณีที่ทรัพย์สิน หรือของมีค่าสูญหายในกรณีที่ผู้ป่วยและญาติเก็บรักษาไว้เอง
- ควรได้รับคำอธิบายให้เข้าใจก่อนการเซ็นเอกสารต่างๆทุกครั้ง เช่น ใบคำมั่นสัญญา ใบอนุญาตผ่าตัด ฯลฯ
- การแจ้งสิทธิ์การรักษาพยาบาลให้พยาบาลทราบ ได้แก่ ประกันสังคม บัตรสุขภาพถ้วนหน้า เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ/ครอบครัว เจ้าหน้าที่ สิทธิ์พิเศษในการรักษาเช่น สมาชิกสภากาชาดไทย กรณีมีค่าใช้จ่าย/ค่าใช้จ่ายส่วนเกินสิทธิ์ จะมีการเรียกเก็บทุก 3 วันโดยสามารถไปชำระเงินได้ที่การเงิน ตึก สก ชั้น 2
- ระเบียบการเยี่ยมและเฝ้าไข้กำหนดจากความปลอดภัยและภาวะสุขภาพของผู้ป่วยเวลาเยี่ยม (เวลาเยี่ยม 12.00 - 18.00น.) เนื่องจากเป็นหอผู้ป่วยที่ผู้ป่วยต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง บางขณะมีกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยจึงจำกัดการเยี่ยมช่วงที่ให้การพยาบาล สำหรับห้องผุ้ป่วยที่ญาติสามารถเฝ้าได้จำเป็นต้องมีญาติหรือผู้ดูแลอยู่ด้วยข้อจำกัดของห้องที่ พยาบาลจะขอเบอร์โทรศัพท์ของญาติสายตรงที่สามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง ทางหน่วยงานจะโทรแจ้งญาติทราบทันที
- หลังจากท่านพ้นภาวะวิกฤตและแพทย์ ลงความเห็นว่าท่านสามารถย้ายออกจากหอผู้ป่วยไอ ซี ซี ยูได้ ถ้าท่านต้องการอยู่ห้องพิเศษ ให้แจ้งความจำนงล่วงหน้าเพื่อประสานการจองเตียง แต่ถ้าห้องพิเศษไม่ว่างท่านจำเป็นต้องย้ายไปอยู่ที่หอผู้ป่วยสามัญรวมก่อน เพื่อสำรองเตียงไว้รับผู้ป่วยภาวะวิกฤตรายอื่นต่อไป
สิ่งที่ต้องนำมาหรือหลักฐานที่ต้องนำมา :
- ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ Lab, EKG, CXR หรือ CD DVD ซึ่งมีภาพที่เคยตรวจ เช่น คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ หรือ การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นต้น
- เอกสารการเบิกจ่ายตามสิทธิ์
- 302 เอกสารจากต้นสังกัด ติดต่อศูนย์ประกันสุขภาพ
- เบิกตรง สำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรข้าราชการ เซ็นรับรองสำเนา กรณีใช้สิทธิ์ตนเอง, สำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรข้าราชการ เซ็นรับรองสำเนา ใช้สิทธิ์บุตร,สามี,ภรรยา
- สำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรข้าราชการ เซ็นรับรองสำเนา + สำเนาทะเบียนบ้าน
- เบิกจากต้นสังกัด เอกสารการเบิกจ่ายจากต้นสังกัด
- สิทธิสมาชิกกิตติมศักดิ์ต่าง ๆ
- ยาที่รับประทานเป็นประจำ
สิ่งที่ท่านต้องเตรียมมาประกอบการนอนโรงพยาบาล:
สบู่ แป้ง แปรงสีฟัน ยาสีฟัน หวี กระดาษทิชชู แชมพูสระผม
ผ้าอ้อมสำหรับผู้ป่วยสูงอายุหรือช่วยเหลือตนเองได้น้อย
การตรวจที่ท่านได้รับขณะอยู่โรงพยาบาล
การตรวจพื้นฐาน
- การตรวจร่างกาย เพื่อดูน้ำหนัก ส่วนสูง อ้วนหรือไม่ การจับชีพจร อัตราและความสม่ำเสมอของการเต้นของหัวใจ ความดัน โลหิต ฟังเสียงหัวใจ นอกจากนั้นแล้วแพทย์จะตรวจร่างกาย ทุกระบบด้วย เพื่อดูว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่ และ ดูโรคอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วย
- คลื่นไฟฟ้าหัวใจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะบอกจังหวะการเต้นของหัวใจ บอกขนาดห้องหัวใจ(แต่ไม่ดีนัก) บอกโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ บางชนิด หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลายคนคิดว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการ "เช็ค" หัวใจคล้ายเช็คเครื่อง แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่เช่นนั้น คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะผิดปกติก็ต่อเมื่อมีโรคหัวใจที่รุนแรง เช่น หัวใจขาดเลือดรุนแรง กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้น ผิดจังหวะ เป็นต้น ต้องเข้าใจว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ปกติ ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้เป็นโรคหัวใจ
- เอกซเรย์ทรวงอก หรือเรียกง่ายๆว่าเอกซเรย์ปอด ซึ่งจะเห็นทั้งปอด หลอดเลือดแดงใหญ่ การกระจายของเลือดในปอด ภาวะน้ำท่วมปอด หรือ หัวใจล้มเหลว เงาของหัวใจซึ่งบอกขนาดหัวใจได้ดีพอควร
- ตรวจเลือด การตรวจหาระดับสารต่างๆในเลือด ส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวใจโดยตรง แต่เป็นการดูเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ของโรคหัวใจ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค และ การใช้ยาต่างๆ (เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อนจากยา)
|