Thai (ภาษาไทย)English (United Kingdom)

Home เกี่ยวกับเรา
ผลสำเร็จ!! การคิดค้นอุปกรณ์ปิดรูรั่วที่ผนังหัวใจห้องล่าง โดยไม่ต้องผ่าตัด PDF พิมพ์ อีเมล
วันเสาร์ที่ 28 กรกฏาคม 2012 เวลา 12:29 น.

รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ฯ กล่าวว่าวันนี้ผมมีข่าวดีที่จะแจ้งให้ท่านสื่อมวลชนทุกท่านได้รับทราบเกี่ยวกับการคิดค้นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการปิดรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง โดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งผลงานชิ้นนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่สามารถเลือกการรักษาแทนการผ่าตัดได้ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้รวดเร็วขึ้น

ผลสำเร็จของอุปกรณ์ชิ้นนี้คณะแพทย์ของศูนย์โรคหัวใจได้ทุ่มเท คิดค้น ผนวกกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยจนเป็นผลสำเร็จ อันเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ที่ว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นเสาหลักด้านสุขภาพของประเทศและสถาบันชั้นนำในระดับนานาชาติ” พร้อมให้บริการผู้ป่วยที่มีภาวะโรคซับซ้อนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ร่วมกับการดูแลอย่างครบวงจรต่อไป

รศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ศูนย์โรคหัวใจเป็นศูนย์ความเป็นเลิศอีกศูนย์หนึ่งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ได้อย่างครบวงจร มีเครื่องมือที่ทันสมัย มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความชำนาญในสาขาโรคหัวใจ ประกอบด้วย อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ และกุมารแพทย์ รวมทั้งสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันทำงานในศูนย์นี้ ทำให้มีการคิดค้น วิจัย การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย การหาแนวทางและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การคิดค้นอุปกรณ์ปิดรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง ในครั้งนี้ ก็เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่คณะแพทย์ของศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ทำการคิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์สำหรับปิดรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่างขึ้น เพื่อให้อุปกรณ์ดังกล่าวเหมาะสมและใช้ได้กับผู้ป่วยในแต่ละราย ด้วยการทำงานเป็นทีม ประสานการรักษาเพื่อให้ได้ผลดีที่สุดกับผู้ป่วยทุกราย

 

รศ.นพ.พรเทพ เลิศทรัพย์เจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจเด็ก ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ กล่าวว่า รูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง (ventricular septal defect, VSD) เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดที่พบบ่อยที่สุดประมาณ 25-30 % ของโรคหัวใจแต่กำเนิดทั้งหมด ผลของรูรั่วดังกล่าวทำให้หัวใจห้องซ้ายต้องทำงานมากกว่าปกติ ร่วมกับมีเลือดผ่านไปยังปอดในปริมาณมากกว่าปกติ อาการของโรคจะขึ้นอยู่กับขนาดของรูรั่ว ผู้ป่วยที่มีรูรั่วขนาดใหญ่จะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจเร็ว โดยเริ่มแสดงอาการตั้งแต่อายุ 3-4 เดือน ในรูรั่วขนาดปานกลางจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่า ส่วนใหญ่รูรั่วขนาดเล็กจะไม่แสดงอาการผิดปกติ การรักษาในโรคนี้ แพทย์จะให้ยารักษาในผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยจากการที่หัวใจต้องทำงานหนัก โดยยาจะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีอาการทุเลาลง แต่ไม่สามารถทำให้รูรั่วปิดได้ การรักษาโดยการปิดรูรั่วจึงจะทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคนี้ เดิมจะใช้วิธีการผ่าตัดหัวใจเพื่อเย็บปิดรูรั่ว แต่วิธีการใหม่นี้จะใช้อุปกรณ์ปิดรูรั่วใส่ผ่านสายสวนหัวใจเข้าไปทางหลอดเลือดไปยังหัวใจของผู้ป่วยเพื่อไปปิดรูรั่วที่เกิดขึ้นแทนการผ่าตัดหัวใจ

 

คณะแพทย์ของศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้คิดค้นอุปกรณ์ชิ้นใหม่ โดยนำลวดนิทินอล (nitinol) มาสานและขึ้นรูปเป็นอุปกรณ์ที่สามารถปิดรูรั่วได้ดีและได้เปลี่ยนโครงสร้างของแกนกลาง ทำให้เกิดแรงกดบนเนื้อเยื่อรอบข้างน้อยที่สุด อีกทั้งยังเคลือบผิวของนิทินอลด้วยทองคำขาวเพื่อป้องกันไม่ให้ นิเกิลทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อ นอกจากนี้ยังได้ออกแบบรูปร่างของอุปกรณ์เป็น 3 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะที่แตกต่างกันไปในรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถปิดรูรั่วได้ดี ไม่มีการเลื่อนหลุดของอุปกรณ์ภายหลังการใส่ และลดการเกิดภาวะหัวใจขัด ซึ่งอุปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่นี้ได้ผ่านการทดลองใช้ปิดรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่างในสัตว์ทดลองมาแล้ว พบว่าได้ผลดี ศูนย์โรคหัวใจฯ จึงได้ใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่างทั้งในผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่แล้วเป็นจำนวน 16 ราย สามารถทำการปิดรูรั่วได้สำเร็จจำนวน 12 ราย มีผู้ป่วย 4 รายที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจเพื่อปิดรูรั่ว จากการติดตามผู้ป่วยภายหลังการใส่อุปกรณ์ พบว่า ผู้ป่วยทุกรายมีอาการดีขึ้น และไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงจากการใส่อุปกรณ์ดังกล่าว

 

รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ กล่าวว่า นอกจากการรักษาผู้ป่วยที่มีผนังกั้นหัวใจพิการแต่กำเนิดแล้ว ในผู้ใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนี้อหัวใจอุดตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งในบางรายกล้ามเนื้อบริเวณผนังกั้นหัวใจห้องล่างมีการเปื่อยยุ่ยและทะลุ เกิดเป็นรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง ทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว การรักษาที่เป็นมาตรฐานคือการผ่าตัดเย็บปิดรูรั่ว แต่เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงงต่อการผ่าตัดสูงมาก การรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์ปิดผนังกั้นหัวใจที่รั่วนี้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ศูนย์โรคหัวใจได้ทำการรักษาผู้ป่วยรายแรกที่มีอาการหอบเหนื่อยและมีภาวะหัวใจล้มเหลวจากโรคดังกล่าวด้วยอุปกรณ์ชนิดใหม่นี้เมื่อหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา ภายหลังการปิดรูรั่วด้วยอุปกรณ์ พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องได้รับยารักษาโรคหัวใจอย่างต่อเนื่องและป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่นควบคุมไขมันในเลือด หยุดการสูบบุหรี่ รักษาความดันโลหิตสูงและเบาหวาน เพื่อป้องกันการตีบซ้ำของหลอดเลือดหัวใจ

ผศ.พญ.สมนพร บุณยะรัตเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด ฝ่ายอายุรศาสตร์กล่าวว่า ขั้นตอนของการปิดรูรั่วด้วยอุปกรณ์ดังกล่าว ต้องมีการประเมินขนาดและตำแหน่งของรูรั่วว่าเหมาะสมที่จะปิดด้วยอุปกรณ์หรือไม่ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการตรวจประเมินโดยใช้คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ หรือ Echo ทั้งแบบผ่านผนังทรวงอกและบางรายอาจต้องกลืนสายเพื่อตรวจผ่านหลอดอาหาร เพื่อให้เห็นรายละเอียดชัดเจนขึ้น การทำงานประสานกันของทีมผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งพัฒนาการเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจสามมิติในการตรวจแสดงภาพ เป็นผลให้สามารถเลือกวิธี ชนิด แ ละอุปกรณ์ที่เหมาะสม ในขณะปิดรูรั่ว แพทย์จะใช้ข้อมูลจากการสวนหัวใจร่วมกับข้อมูลจาก Echo ในการวางตำแหน่งอุปกรณ์ และประเมินผลการปิดรูรั่ว ส่วนการติดตามผลในระยะยาว ซึ่งมีความสำคัญมาก นอกจากการตรวจพื้นฐานแล้ว แพทย์จะตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจเป็นระยะ เนื่องจากสามารถให้ข้อมูลได้ดี ไม่มีรังสี สามารถตรวจซ้ำได้โดยไม่เป็นอันตราย และค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก

 

 

สำหรับแพทย์และเจ้าหน้าที่ศูนย์โรคหัวใจฯ

การส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วย

Scientific Meetings and Academic Calendar

 

 

สำนักงานศูนย์โรคหัวใจ

Statistics

จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 14419595