Thai (ภาษาไทย)English (United Kingdom)

Home
โรคกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างหนาผิดปกติแต่กำเนิด (Hypertrophic Cardiomyopathy) PDF Print E-mail
Saturday, 01 February 2014 22:15
เป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับพันธุกรรม พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยพบว่ากล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างมีความหนากว่าปกติโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด ถ้าตัดชิ้นเนื้อมาตรวจก็จะพบว่ากล้ามเนื้อหัวใจบริเวณนั้นหนาตัวขึ้นมา เซลกล้ามเนื้อเรียงตัวกันไม่เป็นระเบียบและมีพังผืดแทรกอยู่ทั่วๆไป กล้ามเนื้อหัวใจที่หนา คือกล้ามเนื้อหัวใจของหัวใจห้องซ้ายล่าง โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นผนังกั้นระหว่างหัวใจห้องซ้ายล่างและขวาล่าง (Interventricular septum) ซึ่งผนังหัวใจจะหนามากจนปิดกั้นการสูบฉีดของเลือดจากหัวใจห้องซ้ายล่างออกไปยังหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า (Hypertrophic Obstructive CardioMyopathy, HOCM) (ดังรูปที่ 1)

 

บทความโดย พญ. ปิยนาฏ ปรียานนท์

อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นของผนังหัวใจน้อยลง มีช่องว่างสำหรับการไหลเวียนเลือดในหัวใจน้อย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย หรือหน้ามืดเป็นลมเวลาออกแรง หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตเฉียบพลันในขณะออกกำลังกาย ซึ่งพบได้ในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่เคยมีอาการใดๆ มาก่อนก็ได้

 

จากสถิติพบว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติมาแต่กำเนิดดังกล่าวเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลันที่พบบ่อยที่สุดในคนที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี ต่างจากกลุ่มคนที่อายุมากกว่า 35 ปี ที่มักจะเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน แต่อย่างไรก็ตามโรคกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างหนาผิดปกติแต่กำเนิดนี้พบได้ไม่บ่อย

การวินิจฉัย

สามารถทำได้ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจอัลตร้าซาวน์หัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography)

แนวทางการรักษา

1. รับประทานยา

2. ผ่าตัด เพื่อตัดเอากล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่หนาผิดปกติออก (Surgical myomectomy)

3. ใช้แอลกอฮอล์เข้มข้น ฉีดเข้าสู่หลอดเลือดแดงเส้นที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่หนาผิดปกตินั้นให้บางลง (Alcohol septal ablation) ซึ่งเป็นการรักษาที่จะกล่าวถึงในที่นี้

การฉีดแอลกอฮอล์เข้มข้นเพื่อให้กล้ามเนื้อหัวใจบางลง (Alcohol Septal Ablation)

หลักการของหัตถการนี้คือ เป็นการทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเฉพาะส่วนที่หนาผิดปกตินั้นขาดเลือด เมื่อไม่มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจบริเวณนั้น เซลกล้ามเนื้อหัวใจก็จะตายไป ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจที่เคยหนาตัวอยู่นั้น บางลง จนกระทั่งไม่ปิดกั้นทางออกของเลือดจากห้องหัวใจสู่หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าอีกต่อไป ดังรูปที่ 2

ส่วนวิธีการทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คือ การฉีดแอลกอฮอล์เข้มข้น เข้าไปในแขนงของหลอดเลือดแดงเฉพาะที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจบริเวณที่ต้องการ ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นหลอดเลือดหัวใจแขนงเล็กมากๆ เมื่อเซลกล้ามเนื้อหัวใจบริเวณนั้นสัมผัสแอลกอฮอล์เข้มข้นซึ่งถือว่าเป็นพิษต่อเซลโดยตรง ก็จะส่งผลให้เซลกล้ามเนื้อหัวใจตาย ขั้นตอนการรักษาด้วยวิธีนี้ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องจำกัดบริเวณของกล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ต้องการรักษานั้นให้ได้เฉพาะเท่าที่ต้องการเท่านั้น โดยไม่ให้มีการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจบริเวณอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การรักษาด้วยวิธีนี้จึงต้องใช้แพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญในการทำเป็นพิเศษ

ข้อบ่งชี้สำหรับการรักษาด้วยวิธีฉีดแอลกอฮอล์เข้มข้นทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางลง ผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติแต่กำเนิดที่มีการปิดกั้นการสูบฉีดของเลือดจากห้องหัวใจไปสู่หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า (HOCM) ที่ยังคงมีอาการอยู่แม้ว่าจะได้รับการรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่แล้ว

ผลที่ได้จากการรักษาด้วยวิธีฉีดแอลกอฮอล์เข้มข้นทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางล

ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 80 มีอาการดีขึ้น สามารถลดการใช้ยา หรือไม่ต้องใช้ยารับประทานต่อ

ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยวิธีฉีดแอลกอฮอล์เข้มข้นทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางลง

  • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นบริเวณกว้าง น้อยกว่าร้อยละ 3
  • หัวใจเต้นช้าจากความผิดปกติของการนำไฟฟ้าในหัวใจจนต้องใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจถาวร น้อยกว่าร้อยละ10
  • ผลข้างเคียงจากการเจาะหลอดเลือดแดงที่ขา หรือ แขน ระหว่างการทำหัตถการ น้อยกว่าร้อยละ 5

ขั้นตอนของหัตถการการรักษาด้วยวิธีฉีดแอลกอฮอล์เข้มข้นทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางลง

  1. หัตถการจะทำให้ห้องสวนหัวใจ (Cardiac catheterization laboratory) ภายใต้กระบวนการปลอดเชื้อ
  2. แพทย์ผู้ทำการรักษาจะฉีดยาชาเฉพาะที่ แล้วใส่สายของอุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชั่วคราว ผ่านทางหลอดเลือดดำที่คอ ผ่านทางท่อเล็กๆ อุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชั่วคราวนี้ ใส่สำรองไว้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีหัวใจเต้นช้าระหว่างทำการรักษา และจะใส่ต่อไปอีกประมาณ 48 ชั่วโมงหลังทำการรักษา เมื่อแน่ใจแล้วว่า ไม่มีหัวใจเต้นช้าผิดปกติอีก อุปกรณ์ดังกล่าวนี้ก็จะถูกนำออกจากร่างกายผู้ป่วย
  3. แพทย์จะเจาะรูขนาดเล็กๆ ที่หลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ หรือ หลอดเลือดแดงบริเวณข้อมือ เพื่อใส่สายสวน (catheter) ที่จะเป็นทางนำสำหรับอุปกรณ์ทั้งหมด ที่จะไปยังหลอดเลือดแดงของหัวใจที่ต้องการรักษา แพทย์จะวัดความดันในห้องหัวใจ และความดันในหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าเพื่อเป็นข้อมูลก่อนการรักษา หลังจากนั้นจะมีการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiography) และเลือกแขนงของหลอดเลือดแดงที่ต้องการจะฉีดแอลกอฮอล์เข้มข้น หลังจากนั้น จะสอดเส้นลวดเส้นเล็กๆ ผ่านสายสวนเข้าไปในแขนงของหลอดเลือดแดงนั้น ร้อยบัลลูน (balloon) ตามเส้นลวดเข้าไปตรงส่วนต้นของแขนงหลอดเลือดแดงดังกล่าว แล้วตรวจให้แน่ใจว่ากล้ามเนื้อหัวใจบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่ต้องการทำให้ขาดเลือดด้วยการตรวจไปพร้อมๆ กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอัลตร้าซาวน์หัวใจ เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการแล้ว แพทย์จะฉีดแอลกอฮอล์เข้มข้นผ่านช่องทางของบัลลูนเข้าไปในแขนงของหลอดเลือดแดงดังกล่าว ระหว่างนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกได้เล็กน้อย อาจมีการให้ยาแก้ปวดตามที่สมควร
  4. หลังจากนั้นแพทย์จะวัดความดันในห้องหัวใจและในหลอดเลือดแดงเอออร์ต้าอีกครั้ง เป็นอันสิ้นสุดการทำหัตถการ 5. ผู้ป่วยจะต้องนอนในไอซียู หรือ ซีซียู เพื่อสังเกตอาการประมาณ 48 ชั่วโมง โดยปกติแล้วผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายในเวลา 3-5 วัน
 

KCMH Cardiac Center Staff Login

CARDIAC CENTER OFFICE

Statistics

Content View Hits : 14419551