Thai (ภาษาไทย)English (United Kingdom)

Home
เครื่องแวด-VAD หรือ เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือด (Ventricular Assisted Device) PDF Print E-mail
Tuesday, 02 December 2014 00:13

ภาวะหัวใจอ่อนแรง (ฮาร์ท-แฟ็ล-เลียร์ Heart failure) ภาวะหัวใจวาย หรือ ภาวะหัวใจล้มเหลว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เป็นความผิดปกติของหัวใจที่พบได้บ่อย โดยหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อย หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ มีน้ำค้างในร่างกาย และมือเท้าบวม หลายๆครั้งต้องเข้านอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ภาวะหัวใจอ่อนแรงนี้ บางครั้งเป็นรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต การรักษาภาวะหัวใจอ่อนแรงประกอบด้วยหลายวิธีแล้วแต่ระดับความรุนแรงของโรค เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวัน การักษาด้วยยา การใส่เครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจ จนไปถึงการปลูกถ่ายหัวใจ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาการรักษาใหม่ ที่สามารถทำให้ผู้ป่วยภาวะหัวใจอ่อนแรงขั้นสุดท้ายมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือด (“เวน-ทริ-คู-ล่าร์ แอส-สิสท์-เทด ดี-ไวส์”- ventricular assisted device หรือ “เครื่องแวด”-VAD) บางครั้งอาจจะเรียกว่าเครื่องพยุงหัวใจ หรือ หัวใจเทียม เพื่อให้เป็นการง่ายต่อการเรียกผู้เขียนขออนุญาตเรียกทับศัพท์ว่าเครื่องแวด-VAD

บทความโดย นพ. เอกราช อริยะชัยพาณิชย์ (ภาพสามารถคลิ๊กขยายใหญ่เพื่ออ่านรายละเอียด

เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือด คืออะไร

ตรงตามตัว เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือดก็คือเครื่องมือที่ช่วยหัวใจสูบฉีดเลือด เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจง่าย ผู้เขียนขออนุญาตยกตัวอย่างเครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆ ที่ผู้อ่านอาจคุ้นเคย เช่น “ไตเทียม" หรือการล้างไต ก็คืออุปกรณ์ที่ทำงานแทนไตในผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย “เครื่องช่วยหายใจ” ก็เป็นอุปกรณ์ที่แพทย์เฉพาะทางโรคปอดใช้เพื่อพยุงการหายใจในขณะที่คนไข้หายใจไม่ไหว เมื่อถึงคราวที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้เพียงพอ ในคนไข้ที่ภาวะหัวใจอ่อนแรงระยะสุดท้าย แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจอาจจะพิจารณาเพื่อใช้เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือด

ความสำเร็จของศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในการผ่าตัดใส่เครื่องแวด

ศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สามารถผ่าตัดใส่เครื่องแวด ฮาร์ท-แมท 2 – HeartMate II สำเร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2557 โดย ศ. นพ. วิชัย เบญจชลมาศและผู้ช่วยผ่าตัด นพ.พัชร อ่องจริต โดยมีคณาจารย์อายุรแพทย์โรคหัวใจ (นพ. สราวุฒิ ศิวโมกษธรรม ร.ศ.พญ. ศริญญา ภูวนันท์ และ นพ. เอกราช อริยะชัยพาณิชย์) และพยาบาล ภาวิณี นาควิโรจน์ ร่วมดูแลผู้ป่วยก่อน ระหว่างและหลัง ผ่าตัดทำให้ประสบความสำเร็จในการรักษาเป็นอย่างดี หลังจากนั้นผ่าตัดผู้ป่วยรายที่สองสำเร็จเช่นกัน เครื่องรุ่นใหม่ชื่อ HeartMate III ในเดือน มิถุนายน 2559  และ ล่าสุดในเดือน มิถุนายน 2560 นี้ได้ผ่าตัดผู้ป่วยรายที่สามใส่เครื่อง HeartMate III นับเป็นสถาบันที่ใส่เครื่อง HeartMate มากที่สุดในประเทศไทย

เครื่องแวด –VAD หน้าตาเป็นอย่างไร

เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือดมีหลายชนิด ซึ่งผลิตมาเพื่อการใช้งานในกลุ่มคนไข้ที่แตกต่างกัน ในปัจจุบันเครื่องที่ถูกเลือกใช้บ่อยที่สุดในประเทศทางตะวันตกชื่อว่า ฮาท-แมท 2 – HeartMate II, ซึ่งผลิตโดยบริษัท โทร-รา-เทค –thoratec เครื่อง ฮาร์ท-แมท 2 – HeartMate II นี้เป็นอุปกรณ์ที่มีหลายชิ้นส่วน ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ท่อขนาดเล็กที่จะทำงานเป็นปั๊มสูบเลือดออกจากหัวใจห้องล่างและส่งออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ตัวปั้มนี้จะอยู่ภายในร่างกายคนไข้ บริเวณทรวงอกด้านซ้าย ตัวปั๊มจะต้องต่อเข้ากับแหล่งพลังงานและส่วนควมคุมของปั๊มซึ่งจะอยู่ภายนอกร่างกาย ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยสายเคเบิลที่ออกจากผิวหนัง

ใครที่อาจจะได้ประโยชน์จากเครื่องแวด –VAD

1. คนไข้ที่ต้องการให้เครื่องแวดช่วยพยุงหัวใจขณะกำลังรอคอยการปลูกถ่ายหัวใจ หรือ

2. ผู้ที่มีโรคหัวใจระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถปลูกถ่ายหัวใจได้ โดยสามารถใช้แวดเป็นเครื่องพยุงการทำงานของหัวใจไปตลอดชีวิต

ชีวิตหลังใส่แวด

การผ่าตัดใส่ปั๊มป์เข้าไปในตัวคนไข้นั้น เป็นการผ่าตัดใหญ่ใช้เวลา 4-6 ชม. หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก หรือไอซียู และ ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด อาจจะต้องอยู่ในโรงพยาบาล 2-4 อาทิตย์ แพทย์ พยาบาลและนักกายภาพบำบัดจะช่วยดูแลในคนไข้ให้ คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตโดยที่มีเครื่องพยุงหัวใจอยู่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อออกจากโรงพยาบาลและไม่มีผลแทรกซ้อน มักมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ ออกกำลังกายเบาๆได้ เช่น เดินซื้อของ ทำสวน เต้นรำ หรือ เล่นกอล์ฟได้ โดยไม่มีอาการเหนื่อย ผู้ป่วยหลายท่านให้บทสัมภาษณ์ว่า ชีวิตเปลี่ยนไป จากหน้ามือเป็นหลังมือ จากแต่ก่อนใส่เครื่องไม่สามารถทำงานได้หรือต้องนั่งหลับตลอดเวลา หลังใส่เครื่องก็สามารถมีชีวิตใหม่ แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัดหลังใส่เครื่อง ได้แก่ รับประทานยาละลายลิ่มเลือดตามแพทย์สั่งเป็นประจำ ไม่สามารถว่ายน้ำได้ (แต่อาบน้ำได้โดยใช้ shower kit) ทำแผลและดูแลความสะอาดของสาย driveline (สายทางหน้าท้อง) สม่ำเสมอ และ สามารถตรวจสอบเช็คเครื่องได้ตามกำหนดเป็นประจำทุกวัน

ภาวะแทรกซ้อน

1. อัมพฤติอัมพาติ ที่อาจเกิดจากลิ่มเลือดในระบบแวด

2. ภาวะเลือดออกจากระดับยาละลายลิ่มเลือดที่เกินขนาด

3. ติดเชื้อ

4. เครื่องทำงานบกพร่อง

5. ข้อ 1-4 ที่รุนแรงจนบางครั้งอาจทำให้เป็นอันตรายแก่ชีวิต

ในปัจจุบัน เรามีการศึกษาวิจัยที่มากขึ้น ทำให้ความเสี่ยง ต่อผลข้างเคียงต่างๆเหล่านี้ได้ลดลง

 

ผู้เขียนหวังว่าจะมีความร่วมมือระหว่างสถาบันต่างๆ เพื่อคัดเลือกผู้ป่วยที่อาจจะได้รับประโยชน์จากการรักษานี้ และสามารถได้เข้ารับการผ่าตัดอย่างทันท่วงที หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อคลินิคหัวใจล้มเหลว รพ.จุฬาลงกรณ์ 0813839302

 

KCMH Cardiac Center Staff Login

CARDIAC CENTER OFFICE

Statistics

Content View Hits : 14415039